จะว่าง่ายมันก็ดูง่ายจะว่ายากมันก็ดูยากนะครับการตรวจบ้านก่อนรับเนี่ย หลายคนคงคิดไม่ตกว่าเราจะตรวจเองดีมั๊ยนะ หรือจ้างมืออาชีพตรวจให้จะมีประสิทธิภาพกว่า เพราะบ้านจะอยู่กับเราไปอีกนาน ผมเองก็เช่นกันที่ก่อนรับบ้านปวดหัวกับความลังเล ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะตรวจบ้านเองหรือจ้างมืออาชีพเค้ามาตรวจให้ ซึ่งวันนี้ก็ไม่ได้จะมาบอกหรือฟันธงว่าแบบไหนดีกว่ากัน และยังไม่เฉลยตอนนี้ด้วยว่าจริงๆ แล้วผม ตรวจเองหรือให้มืออาชีพมาตรวจให้ แต่จะมาเล่าว่า ก่อนที่คุณจะเซ็นรับบ้านจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ
เตรียมอุปกรณ์กันก่อน
อุปกรณ์ที่ในการใช้ตรวจบ้าน ขอบอกว่าไม่ได้วุ่นวายยิ่งใหญ่อะไร ส่วนใหญ่จะมีกันอยู่แล้วหรือหาซื้อได้ไม่ยากครับ แต่ปัญหาคือมันเยอะอยู่นะ มีหลายสิ่องหลายอย่างเลยที่เราต้องเตรียม มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
- กระดาษ Checklist อันนี้ขอบอกว่าหาซื้อกระดาษที่มีช่องติ๊กๆ ด้านหน้าไว้เลย เพราะจะได้ใช้กระดาษใบนี้แหละจดทุกอย่างที่ต้องแก้ไข แล้วเมื่อมาตรวจอีกรอบก็ค่อยๆ ติ๊กเครื่องหมายถูกในส่วนที่แก้ไขไปแล้วได้ง่ายๆ ส่วนการจดแนะนำให้ใช้ดินสอจะได้ลบหรือเขียนใหม่ได้ง่ายๆ
- ผังแบบแปลนบ้าน สำคัญสุดๆ เพราะถ้าเราไม่รู้แปลนบ้านเราเราจะตรวจยังไง
- ตลับเมตร สุดยอดเครื่องมือที่ต้องมี ถ้าไม่มีไปแนะนำให้ซื้อเลย เพราะต้องวัดทุกอย่างในบ้าน นอกจากจะวัดเพื่อตรวจบ้าน ยังวัดเพื่อจดไปซื้อของแต่งบ้าน หรือเอาไว้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ Built-in ได้ด้วย
- สติ๊กเกอร์ อันนี้ก็ต้องมี หาซื้อไม่อยากสติ๊กเกอร์กลมๆ สีๆ ซื้อมาเยอะๆ เลยครับ เอามาติดตามจุดที่ต้องแก้ไข จะได้เด่นชัดและเห็นง่าย
- คัดเตอร์ เอามาไว้ตัดนู่นตัดนี่ ไม่ค่อยแนะนำกรรไกรเท่าไหร่ เพราะพกค่อนข้างยากเวลาต้องหยิบใช้บ่อยๆ ไม่ค่อยสะดวกเวลาใช้งาน
- ไฟฉาย เอาไว้ส่องพวกท่อ หรือฝ้าเพดาน
- ไม้วัดระนาบหรือลูกปิงปอง จริงๆ ถ้าจะตรวจสอบระนาบพื้นก็ใช้ไม้วัดที่มีที่วัดระดับน้ำเลยดีที่สุด หาซื้อไม่ยาก แต่ถ้าไม่อยากซื้อเอาลูกปิงปองมากลิ้งๆ ดูก็ได้ใช้ได้เหมือนกัน
- ถังน้ำ สำหรับวัดระนาบพื้นห้องน้ำ ใส่น้ำให้เต็มแล้วเทไปเลย จะได้รู้ว่ามีน้ำขังหรือไม่
- ไขควงวัดไฟ อันนี้สำคัญเอาไว้วัดปลั๊กไฟต่างๆ ว่าไฟเข้ามั้ย แต่ถ้าไม่มีหรือกลัวก็ใช้โทรศัพท์ของเราเสียบที่ชาร์จเอาได้เลย
- ขนมปัง ไม่ได้เอามาให้ปลากินนะ แต่เอาไว้ทดสอบระบบระบายน้ำทิ้ง
แค่อุปกรณ์ที่เราต้องเตรียมก็ 10 อย่างเข้าไปแล้วครับ แต่อย่าเพิ่งท้อแท้น้า นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง เรามาดูกันต่อครับ ว่าถึงเวลาจริงๆ เมื่อเราเข้าไปหน้างานหรือบ้านของเราเนี่ย เราจะต้องตรวจ ต้องดูอะไรกันบ้าง
เริ่มตรวจบ้านกันเลย
งานโครงสร้าง
แค่ชื่อก็รู้สึกยิ่งใหญ่เกินตัวแล้วเพราะต้องตรวจกันตั้งแต่ คาน ผนัง หรือทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ตรงนี้ต้องถามสเปคให้ละเอียดแล้วตรวจว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ต้องเช็กให้ดีว่ามีรอยร้าวมั้ย มีคานโค้งงอมั้ย ส่วนงานพื้นก็ต้องตรวจสอบการปูวัสดุต่างๆ ถ้าเป็นกระเบื้องขอบอกว่าต้องเคาะกันทุกแผ่น เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการปูพื้นได้แน่น ไม่เป็นโพรง และมีระนาบที่เสมอกันทุกพื้นที่
งานผนัง
อีกหนึ่งงานใหญ่คือเราต้องตรวจสอบการฉาบผนังว่าฉาบได้เรียบเนียนเสมอกันมั้ย ถ้ามีบัวพื้นหรือบัวเพดานก็ต้องตรวจดูการเข้ามุมว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ มีการหลุดหรือมีส่วนที่เกินและเรียบชิดกับพื้นดีมั้ย ส่วนเรื่องของสีต้องดูให้แน่ใจว่ามีการทาสีที่เท่ากันตลอดทั้งผนัง ไม่มีรอยด่างหรือสีที่ผิดเพี้ยนไปจากจุดอื่นๆ
ประตูและหน้าต่าง
ถ้าเป็นประตูภายในบ้านต้องตรวจดูความเรียบร้อยของวงกบก่อนเลย ว่าติดแนบกับผนังดีมั้ย ไม่มีรอยบิ่น ปิดแล้วต้องเรียบสนิทกับวงกบ และที่สำคัญอยากให้ลองปิดแรงๆ ดูสักสามสี่ที บางโครงการปิดแรงๆ ไปทีเดียวผนังรอบๆ ประตูถึงกับร้าว เพราะฉะนั้นก่อนรับลองได้ลองเลย ส่วนหน้าต่าง อันนี้ยากใช้ได้เพราะถ้าอยากดูว่ามีการรั่วซึมมั้ย ต้องมีการฉีดน้ำอัดเข้าไปแรงๆ และใช้เวลา เอาจริงๆ ตรงนี้ตรวจสอบยากที่สุด เพราะถ้าไม่ใช่ฝนที่ตกลงมาหนักจริงๆ มักจะไม่เจออาการตอนตรวจเท่าไหร่
ฝ้าเพดาน และหลังคา
พูดถึงเรื่องรั่วซึม แน่นอนเลย ฝ้าเพดานต้องตรงกันละเอียดๆ ดูเพดานทีบาร์ให้ดี เส้นต้องเรียบสม่ำเสมอรอยต่อไม่เกยกัน สำหรับหลังไหนหรือห้องไหนที่เป็นฉาบปิดเรียบ ก็ต้องดูว่าเรียบเนียนจริงมั้ย และที่สำคัญต้องปีนขึ้นไปดูด้านบนด้วย ส่วนหลังคา อันนี้งานระดับโหดเพราะเช็กยากมากๆ คือถ้าจะเอาปีนขึ้นไปดูการปูกระเบื้องหลังคาเองอาจจะไม่ได้โอนบ้านแต่ไปโรงพยาบาลแทน เอาเป็นว่าก็ดูจากด้านในคือปีนขึ้นดูจากช่องฝ้านี่แหละ ว่าปูเรียบร้อยดีมั้ย มีน้ำขังมั้ย ส่วนเรื่องการรั่วซึมบอกตามตรงว่าคงต้องรอฝนตกหนักๆ เท่านั้นถึงจะรู้ผล
ระบบน้ำ
อันนี้ตรวจเองไม่ยากเท่าไหร่ โดยเราต้องตรวจระบบน้ำทั้งหมด เริ่มกันที่ห้องน้ำก่อนเลย นอกจากจะต้องตรวจพวกสุขภัณฑ์ต่างๆ ว่าใช้งานได้ดีมั้ย สิ่งสำคัญคือ ทุกๆ อุปกรณ์มีการรั่วซึมหรือไม่ และขนมปังเราจะได้ใช้ตอนนี้แหละ ง่ายๆ เลยก็โยนขนมปังลงไปในสุขภัณฑ์แล้วกดลงไป เรียบร้อยแล้วก็ลงไปเปิดฝาท่อน้ำทิ้งดูเลยว่าขนมปังที่เราโยนลงไปนั้นมันได้ไปอยู่ในที่ๆ มันควรอยู่รึยัง ถ้ายังจดปัญหานี้ไว้ตัวใหญ่ๆ แล้วห้ามลืมแก้เด็ดขาด ไม่งั้นอยู่ๆ ไปอาจจะเจอภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตในห้องน้ำก็เป็นได้
ทีเด็ดที่ใครๆ ต้องเจอคืออาการรั่วของอ่างล้างหน้า แนะนำให้ทำการปิดท่อระบายน้ำแล้วเปิดน้ำให้เต็มก่อนจะลองปล่อยดู ที่นี้ก็จะได้รู้กันว่ามีรั่วมีซึมมั้ย เพราะถ้าเปิดน้ำทิ้งลงไปเฉยๆ หากมีการรั่วซึมนิดหน่อยจะไม่แสดงอาการให้เห็นต้องจัดเต็มแบบน้ำเต็มอ่างกันไปเลย การระบายน้ำของพื้นห้องน้ำก็สำคัญ แนะนำให้ปิดฝาระบายน้ำซะ หรือถ้าไม่มี เอาผ้าอุดให้นำ้ไม่สามารถลงได้ แล้วเปิดน้ำใส่ถังใหญ่ๆ แล้วเทลงไปทีเดียวเลย เสร็จแล้วก็รอดูว่าน้ำจะระบายได้มั้ย คือนอกจากจะเป็นการวัดระนาบของพื้นว่าระบายน้ำได้ดีมั้ย ยังสามารถตรวจเรื่องการรั่วซึมของท่อระบายน้ำได้ด้วย หลายบ้านที่ทดสอบแบบนี้แล้วผลที่ได้คือน้ำทะลุฝ้าลงมาเลย อันนี้สำคัญสุดๆ ถ้าอยู่ไปแล้วมาแก้ที่หลังขอบอกว่างานช้าง
ระบบไฟ
อันนี้หลักๆ เลยต้องเช็กว่าระบบไฟทั้งบ้านปกติมั้ย เริ่มจากเช็กตัวเบรคเกอร์ว่าแต่ละสวิตช์ทำงานถูกตามที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าถูกแล้วก็ลองไล่เปิดไฟทั้งหมดของบ้านดู ส่วนเรื่องปลั๊กต่างๆ ก็อย่างที่บอกด้านบนว่าถ้ามีไขขวงเช็กไฟก็เอาจิ้มไปเลย อันไหนไม่ติดก็จดแล้วเอาสติ๊กเกอร์ติดไว้ หรือถ้าไม่มีก็เอาโทรศัพท์เราเสียบชาร์จไปได้เลยครับ
และนี่ก็เป็น 6 หัวข้อใหญ่ๆ ที่เราควรจะทำเมื่อตรวจบ้าน ยังไม่รวมความยิบย่อยต่างๆ อีกนะครับ เป็นไงบ้างเริ่มท้อรึยัง? ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงสิ่งที่คนทั่วๆ ไปสามารถตรวจสอบเองได้เท่านั้นนะฮะ ซึ่งขอเฉลยเลยว่าผมเองตอนจะรับบ้านก็มีการหาข้อมูลจำนวนมาก และหลังจากปวดหัวสับสนว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี ผลคือผมเลือกที่จะ “ตรวจบ้านเอง” ตามขั้นตอนที่ผมเล่ามานั่นแหละ แต่!!! ชีวิตมันไม่ง่ายแบบนั้นเสมอไปครับ เพราะว่าหลังจากที่ผมตรวจทุกอย่างตามที่ว่ามากลับแทบจะไม่พบความผิดปกติของบ้านเลย เหมือนจะดีครับ แต่ขอบอกว่าหลอนกว่าเดิม คือมันจะเป็นไปได้ยังไงที่บ้านจะไม่มีปัญหาอะไรเลย
สุดท้ายหลังตรวจเองเสร็จผมเลยกราบขอโทษพี่ๆ โครงการไป แล้วบอกว่า ยังไงจะขอตรวจอีกครั้ง โดยเลือกที่จะให้ “มืออาชีพ” มาตรวจให้ครับ และผลที่ได้ก็คือ แก้เพียบ!!! เกือบไปแล้ว ดังนั้นถ้าใครที่ไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับการตรวจรับบ้าน หรือไม่เชี่ยวชาญ ไม่มั่นใจว่าเราตรวจเองแล้วจะราบรื่น แนะนำให้จ้างมืออาชีพในการตรวจรับบ้านเถอะครับ แล้วชีวิตคุณจะง่ายและคลายความกังวลไปได้เยอะ แถมถ้าช่างมีประสบการณ์ในการตรวจมาอย่างโชกโชนด้วยเนี่ย จะช่วยให้เราเห็นจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีเราอาจจะมองข้ามไปเลยก็ได้ครับ หรือถ้ามั่นใจในฝีมือตัวเองจะลองตรวจบ้านด้วยตัวเองดูสักครั้งก็ไม่เสียหาย เก็บไว้เป็นประสบการณ์ในอนาคต เราไปตรวจบ้านให้ครอบครัว ให้ญาติ ให้เพื่อนๆ ได้ ก็มีประโยชน์ไปอีกแบบนะครับ อยู่ที่คุณเป็นคนเลือกแล้ว ว่าต้องการแบบไหน
สุดท้ายแล้วเราไม่ได้จะมาบอกว่าการตรวจรับบ้านเองหรือการจ้างมืออาชีพมาตรวจรับบ้าน แบบไหนดีกว่ากัน แต่อยากมาแนะนำว่าก่อนรับบ้านเราจะต้องตรวจสอบอะไรบ้าง ถ้าคุณคิดว่าไหว มั่นใจก็ลุยเลย แต่ถ้าคิดว่ายุ่งยากเกินไปก็ส่งให้มืออาชีพเค้าจัดการตั้งแต่แรกเลยดีกว่า สุดท้ายถ้าคุณกำลังจะรับบ้านหรือคอนโดใหม่อยู่ในตอนนี้ผมยินดีด้วย และขอให้คุณโชคดีกับการตรวจบ้านครับ ^^